หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ของนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
1. การกำหนดระยะเวลา การให้ทุนศึกษาเพื่อเรียนภาษา / เตรียมมหาวิทยาลัย และ ระดับปริญญาตรี (หรือปริญญาแรกของหลักสูตร) อนุปริญญา และประกาศนียบัตร
1.1 การเรียนภาษาและหลักสูตรเตรียมมหาวิทยาลัย |
ระยะเวลาศึกษาไม่เกิน 2 ปี หรือไม่เกิน 3 ปี สำหรับกรณีที่สถานศึกษาพิจารณา เห็นว่า ระยะเวลา 2 ปี ยังไม่เพียงพอและมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพิ่มอีก 1 ปี |
1.2 การเรียนระดับปริญญาตรี (หรือปริญญาแรกของหลักสูตร) อนุปริญญา และประกาศนียบัตร |
1.2.1 ระยะเวลาศึกษาในมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามระยะเวลาของหลักสูตร กรณีนักเรียนที่ไม่สามารถศึกษาได้สำเร็จภายในระยะเวลาตามหลักสูตร สำนักงาน ก.พ. จะพิจารณาเป็นรายกรณี โดยนักเรียนต้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาการรับทุนก่อนวันสิ้นสุดการรับทุนอย่างน้อย 60 วัน
เอกสารประกอบการพิจารณา มีดังนี้ 1.2.2. ระยะเวลาการเรียนภาษา เตรียมมหาวิทยาลัย และระยะเวลาการศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาตรี (หรือปริญญาแรกของหลักสูตร) รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 7 ปี 1.2.3. นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ก่อนครบกำหนดระยะเวลา 7 ปี ทางราชการไม่มีนโยบายให้นักเรียนอยู่ศึกษาต่อให้ครบ 7 ปี เพื่อศึกษาต่อ ในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี 1.2.4. กรณีนักเรียนที่สอบตกซ้ำชั้น เปลี่ยนสาขาวิชาหรือย้ายสถานศึกษา ให้นับระยะเวลาที่ได้ศึกษาไปแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย เช่น นักเรียนศึกษาปริญญาตรี หลักสูตร 3 ปี เมื่อศึกษาไปแล้ว 1 ปี หากนักเรียนสอบตกซ้ำชั้น เปลี่ยนสาขาวิชา หรือย้ายสถานศึกษา นักเรียนจะเหลือเวลาการรับทุนเพื่อศึกษาต่อ เพียง 2 ปีเท่านั้น |
*****************************************************
2. การเข้าศึกษาในสถาบันที่ ก.พ. ไม่รับรองคุณวุฒิเพื่อเข้ารับราชการ
นักเรียนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ควรศึกษาในสถาบันการศึกษาที่ ก.พ. หรือรัฐบาลประเทศนั้นๆ รับรอง เพื่อประโยชน์ในการเข้ารับราชการ และ/หรือการสมัคร รับทุนอื่น เพื่อศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น (สามารถตรวจสอบการรับรองสถาบันการศึกษาได้ที่ www.ocsc.go.th)
******************************************************
3. การเรียนหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ
นักเรียนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เฉพาะรุ่นที่ 1 และ 2 สามารถเลือกเข้า ศึกษาในสถานศึกษาที่เปิดสอน หลักสูตรภาคภาษาอังกฤษได้ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.พ. ก่อน
****************************************************
4. การลงทะเบียนศึกษา
นักเรียนต้องลงทะเบียนศึกษาแบบเต็มเวลา (full time) หรือตามที่สถานศึกษากำหนด หากสถานศึกษาไม่ได้กำหนด นักเรียนต้องลงทะเบียนเรียนในจำนวนวิชาและหน่วยกิต ที่เหมาะสม ที่จะสามารถศึกษาได้สำเร็จภายในระยะเวลาตามหลักสูตร จะศึกษาแบบ part time ไม่ได้ โดยเลือกศึกษาวิชาให้ตรงตามสาขาวิชาที่นักเรียนได้เลือกศึกษาไว้ หรือที่ทางราชการกำหนด และต้องเป็นวิชาที่สามารถนับรวมอยู่ในหลักสูตรได้ ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้นักเรียนลงทะเบียนศึกษาแบบทางไกลหรือศึกษาทาง Internet
******************************************************
5. การลงทะเบียนศึกษา
นักเรียนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นมีหน้าที่ต้องรายงานผลการศึกษาให้ สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน หรือสถานเอกอัครราชทูตทราบทุกภาคการศึกษา
******************************************************
6. เกณฑ์การศึกษา
– สถานศึกษาที่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์การสอบผ่านเพื่อเลื่อนขึ้นชั้นที่สูงขึ้น เช่น ต้องสอบผ่านทุกวิชา หรือต้องได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่า 60%เป็นต้น กรณีเช่นนี้ ให้ใช้ระเบียบกฎเกณฑ์ของสถานศึกษา
– กรณีที่สถานศึกษามิได้กำหนดเกณฑ์การสอบผ่านในแต่ละปีการศึกษา ให้ใช้เกณฑ์การสอบผ่าน ดังนี้
ปีที่ 1 | สอบผ่านอย่างน้อย 50% ของวิชาที่ศึกษา |
ปีที่ 2 | สอบผ่านอย่างน้อย 70% ของวิชาที่ศึกษา |
ปีที่ 3 เป็นต้นไป | สอบผ่านอย่างน้อย 80% ของวิชาที่ศึกษา |
สำหรับนักเรียนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 1 ให้ใช้เกณฑ์ ดังนี้
ปีที่ 1 และ ปีที่ 2 | สอบผ่านอย่างน้อย 50%ของวิชาที่ศึกษา |
ปีที่ 3 เป็นต้นไป | สอบผ่านอย่างน้อย 80% ของวิชาที่ศึกษา |
หากไม่เป็นไปตามเกณฑ์การศึกษาดังกล่าว ก็ให้นักเรียนยุติการศึกษา ในต่างประเทศ และกลับไปศึกษาต่อในประเทศไทย
หมายเหตุ วิชาที่ศึกษาหมายถึง วิชาที่สถานศึกษากำหนดให้ลงทะเบียนศึกษา หรือหากสถานศึกษาไม่มีข้อกำหนด นักเรียนต้องลงทะเบียนศึกษาในจำนวนวิชาและหน่วยกิต ที่เหมาะสมที่จะสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในเวลาตามที่หลักสูตรกำหนด
******************************************************
7. การศึกษาภาคฤดูร้อน มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณา ในกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้
- จะต้องเป็นการช่วยให้สำเร็จการศึกษาได้เร็วขึ้น
- วิชาที่ขอศึกษาจะต้องเป็นวิชาที่อยู่ในหลักสูตร และสามารถนับเข้าไปในโปรแกรมการศึกษาได้ และต้องมิใช่เป็นการศึกษาแบบ Audit
- ต้องศึกษา ณ สถานศึกษาเดิม ทั้งนี้ สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ จะต้องตรวจสอบด้วยว่านักเรียนแต่ละรายมีเงินงบประมาณเหลือพอที่จะเป็นค่าเล่าเรียนภาคฤดูร้อนได้ หรือมิฉะนั้นก็จะต้องมีเงินงบประมาณของนักเรียนรายอื่นๆ เหลือจ่ายอยู่ พอที่จะนำมาจ่ายได้ จึงจะอนุมัติให้ศึกษาภาคฤดูร้อนได้ แต่ถ้างบประมาณไม่เพียงพอ และไม่สามารถถัวจ่ายจากนักเรียนรายอื่นได้ จะต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงาน ก.พ. เพื่อให้พิจารณาก่อนเป็นรายๆ ไป
วิธีดำเนินการและข้อควรคำนึงในการพิจารณา นักเรียนต้องยื่นคำร้องขออนุมัติศึกษาภาคฤดูร้อน และตรวจสอบว่า นักเรียนศึกษาที่สถานศึกษาเดิมหรือไม่ หากเป็นการไปศึกษา ณ สถานศึกษาอื่น ต้องมีหนังสือรับรองจากสถานศึกษาเดิมว่า สามารถโอนหน่วยกิตไปนับรวมในหลักสูตรได้ ทั้งนี้ ไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
********************************************
8. การเปลี่ยนสาขาวิชาศึกษา มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน หรือ สถานเอกอัครราชทูต พิจารณาในกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้
- นักเรียนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น รุ่นที่ 2 ทางราชการได้กำหนดกรอบสาขาวิชาให้ศึกษา (รายละเอียดกรอบสาขาวิชาในเอกสารแนบท้าย) กรณีนักเรียนประสงค์จะศึกษาวิชาที่ไม่อยู่ในกรอบดังกล่าว ก็จะต้องเป็นสาขาวิชาที่ประเทศนั้นๆ มีความโดดเด่นและชำนาญการ และเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย ในภาพรวม
- นักเรียนที่เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว การขอเปลี่ยนสาขาวิชาจะกระทำได้เฉพาะในปีการศึกษา ปีที่ 1 เท่านั้น และไม่เกิน 1 ครั้ง
เอกสารประกอบการพิจารณา
- คำร้องขออนุมัติเปลี่ยนสาขาวิชา พร้อมทั้งระบุเหตุผลและความจำเป็นกรณีศึกษาไปแล้ว ให้ระบุชื่อวิชาและหน่วยกิตที่สามารถโอนได้
- รายละเอียดหลักสูตรของวิชาที่จะไปศึกษา
- หนังสือตอบรับจากสถานศึกษาให้เข้าศึกษาในเทอมถัดจากเทอมที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่
ทั้งนี้ นักเรียนต้องยื่นเรื่องขออนุมัติเปลี่ยนสาขาวิชาก่อนล่วงหน้า เมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะดำเนินการเปลี่ยสาขาวิชาได้
*********************************************
9. การย้ายสถานศึกษา มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนหรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณา ในกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. การย้ายสถานศึกษาไม่ทำให้ต้องเปลี่ยนแนวการศึกษาให้ผิดไปจากแนวการศึกษาที่อนุมัติหรือกำหนดไว้
2. นักเรียนที่เข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว การย้ายสถานศึกษาจะกระทำได้เฉพาะในภาคการศึกษาแรกของปีที่ 1 เท่านั้น และไม่เกิน 1 ครั้ง
เอกสารประกอบการพิจารณา
1. คำร้องขออนุมัติย้ายสถานศึกษา พร้อมทั้งระบุเหตุผลความจำเป็น กรณีศึกษาไปแล้วให้ระบุชื่อวิชาและหน่วยกิตที่สามารถโอนได้
2. หนังสือตอบรับจากสถานศึกษา ให้เข้าศึกษาในเทอมถัดจากเทอมที่นักเรียนกำลังศึกษาอยู่
3. หลักสูตรการศึกษาของสถานศึกษาที่ตอบรับ
อนึ่ง ทางราชการจะไม่จ่ายค่าระวางขนส่งของในการย้ายสถานศึกษาระดับเดียวกัน ทั้งนี้ นักเรียนต้องยื่นเรื่องขออนุมัติย้ายสถานศึกษาก่อนล่วงหน้า เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงจะดำเนินการย้ายสถานศึกษาได้
***************************************************
10. การเปลี่ยนระดับการศึกษา มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนหรือสถานเอกอัครราชทูต พิจารณาเปลี่ยนระดับการศึกษา ดังนี้
- กรณีนักเรียนไม่สามารถสมัครเข้าศึกษาระดับปริญญาตรีได้ ให้เปลี่ยนมาศึกษาระดับประกาศนียบัตรหรืออนุปริญญาได้ โดยนักเรียนจะต้องแจ้งความประสงค์ขอสมัครเข้าศึกษาระดับดังกล่าว หลังจากการเรียนภาษาและเตรียมความพร้อมแล้ว (ก่อนเริ่มเรียนระดับอุดมศึกษา)
- นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรหรืออนุปริญญาแล้ว สามารถศึกษาต่อจนถึงระดับปริญญาตรีได้ โดยต้องเป็นหลักสูตรต่อเนื่อง (เช่น เข้าศึกษาชั้นปีที่ 3 ของระดับปริญญาตรี ไม่ใช่เริ่มศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 หรือ ชั้นปีที่ 2)
เอกสารประกอบการพิจารณากรณีข้อ 2
- คำร้องขออนุมัติเปลี่ยนระดับการศึกษา
- หนังสือตอบรับจากสถานศึกษา
****************************************************
11. การขอไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ระหว่างที่ศึกษาอยู่ (เป็นการไปศึกษาต่างประเทศชั่วคราว) มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียน หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาให้นักเรียนเดินทางไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ในกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้
- การศึกษานั้นต้องเป็นการบังคับตามหลักสูตร
- ไม่ใช้ระยะเวลาศึกษาเพิ่มมากขึ้นเมื่อได้รับอนุมัติแล้ว นักเรียนจะได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายประจำเดือนในอัตราของประเทศที่ไปศึกษา
เอกสารประกอบการพิจารณา
- คำร้องขออนุมัติไปศึกษาต่างประเทศ
- หนังสือรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา
****************************************************
12. การย้ายประเทศศึกษา (ระหว่างที่ศึกษาอยู่) กรณีการขอย้ายประเทศศึกษา (ยกเว้น กลับมาศึกษาในประเทศไทย) ในหลักการไม่ให้นักเรียนย้ายประเทศศึกษา
****************************************************
13. การไปทัศนศึกษา หรือพักผ่อนนอกประเทศที่มิใช่ประเทศไทย มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณา อนุมัติในกรณีที่เข้าหลักเกณฑ์ ดังนี้
1. ไม่ทำให้เสียผลการเรียนหรือเสียเวลาศึกษาเพิ่มขึ้น
2. ไม่เบิกเงินพิเศษนอกเหนืองบประมาณตามที่ ก.พ. กำหนดไว้
3. เป็นช่วงเวลาที่สถานศึกษาปิดภาคการศึกษา
ทั้งนี้ นักเรียนต้องยื่นคำร้องขออนุมัติก่อนการเดินทาง เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงจะเดินทางได้
******************************************************
14. การกลับเยี่ยมบ้านชั่วคราวโดยได้รับค่าใช้จ่ายประจำเดือน มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาอนุญาตให้นักเรียนกลับเยี่ยมบ้านชั่วคราวในระหว่างปิดภาคการศึกษา แล้วแจ้งให้สำนักงาน ก.พ. ทราบ โดยพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ คือ
- นักเรียนยื่นคำร้องขออนุมัติกลับเยี่ยมบ้านชั่วคราว โดยกำหนดระยะเวลาที่จะเดินทางไปและ กลับชัดเจน
- การกลับประเทศไทยไม่ทำให้เสียผลการเรียน หรือใช้เวลาศึกษาเพิ่มขึ้น และไม่กระทบต่อโครงการศึกษา
- นักเรียนออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป-กลับด้วยตนเอง โดยได้รับค่าใช้จ่ายประจำเดือนตามปกติ
- นักเรียนจะต้องรายงานตัวต่อสำนักงาน ก.พ. ในโอกาสแรกที่จะกระทำได้ เมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้ว
- สำหรับเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนจะจ่ายได้ไม่เกิน 3 เดือน
ทั้งนี้ จะไม่ได้รับค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลระหว่างอยู่ในประเทศไทย ค่าเดินทางกลับภูมิลำเนา เป็นต้น อนึ่ง หากเป็นการเดินทางกลับประเทศไทยชั่วคราวซึ่งไม่ใช่ช่วงปิดภาคการศึกษา ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาอนุมัติในกรณีที่นักเรียนมีกิจธุระจำเป็น หรือเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น ป่วย โดยต้องมีหนังสือรับรองจากสถานศึกษาหรืออาจารย์ที่ปรึกษา ฯลฯ
******************************************************
15. การพักการศึกษาชั่วคราว มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาอนุมัติไปได้กรณี ดังนี้
1. นักเรียนป่วยจนไม่สามารถศึกษาต่อได้ โดยมีแพทย์ให้คำรับรองว่าต้องกลับมารักษาตัวในประเทศไทย
2. สาเหตุอื่นๆ เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาส่วนตัว ฯลฯ
ทั้งนี้ มีหลักเกณฑ์การจ่ายค่าใช้จ่าย ดังนี้
- ไม่จ่ายค่าใช้จ่ายค่าโดยสารเครื่องบินไป-กลับทุกกรณี
- ไม่ได้รับเงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนในระหว่างพักการศึกษาชั่วคราว
- กรณีเจ็บป่วยให้สามารถขอเบิกจ่ายได้ โดยต้องเข้ารับการรักษาเป็นคนไข้ของโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น โดยใช้งบประมาณตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน
******************************************************
16. การขอรับทุนประเภทอื่นๆ อนุมัติเป็นหลักการว่า ถ้านักเรียนผู้นั้นเรียนดี จนมหาวิทยาลัยให้ทุนช่วยเหลือจากผลการเรียนนั้น โดยต้องเป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกพัน สำนักงาน ก.พ. มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ ดำเนินการพิจารณาอนุมัติไปได้ แล้วแจ้งให้สำนักงาน ก.พ. รับทราบต่อไป
********************************************
17. การดูแลกวดขันความประพฤติ กรณีที่นักเรียนประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ ดำเนินการตามลำดับ ดังนี้
- ว่ากล่าวตักเตือน
- ชะลอการจ่ายเงินประจำเดือน
- ยุติการศึกษา
*********************************************
18. การให้ยุติการศึกษาในต่างประเทศ มอบอำนาจให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาอนุมัติให้นักเรียนยุติการศึกษา ในกรณีดังนี้
- ป่วย โดยมีหนังสือรับรองจากแพทย์ผู้รักษาว่าไม่อาจศึกษาต่อได้ หรือ
- ประพฤติตนเสื่อมเสีย ที่มีหลักฐานต่างๆ ชัดเจน หรือ
- ไม่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน
- ไม่สามารถเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สถาบันอาชีวศึกษาได้ หลังจากเรียนภาษา/เตรียมมหาวิทยาลัยไปแล้ว
- สอบไม่ผ่านจนสถานศึกษาคัดชื่อออก หรือสอบไม่ผ่านเกณฑ์การศึกษาที่สำนักงาน ก.พ. กำหนด (ตามหลักเกณฑ์ข้อ 6)
- นักเรียนแจ้งความประสงค์ขอยุติการศึกษา ด้วยตนเอง
********************************************************
19. การขอลาออกจากการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล (ทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น) กรณีนักเรียนขอลาออกจากการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ให้เสนอสำนักงาน ก.พ. เพื่อรับทราบเรื่องการลาออกจากการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ทั้งนี้ การลาออกของนักเรียนจะมีผลตั้งแต่วันที่นักเรียนแจ้งว่าจะลาออกเมื่อใด กรณีที่นักเรียนมิได้กำหนดหรือแสดงความประสงค์ว่าจะลาออกวันใด ให้ถือวันที่สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูต ได้รับหนังสือการลาออกของนักเรียน หรือสถานเอกอัครราชทูตได้รับหนังสือการลาออกของนักเรียน
******************************************************
20. การอุทธรณ์คำสั่ง เมื่อนักเรียนได้มีคำขอใดๆ และ ก.พ. หรือสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์อนุมัติ จึงไม่อนุมัติตามคำขอ ถ้านักเรียนได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โดยไม่มีเหตุผลเพิ่มเติมเพียงพอที่จะอยู่ในหลักเกณฑ์อนุมัติได้ ก็ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนฯ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ พิจารณาไม่อนุมัติคำขออุทธรณ์ดังกล่าวไปได้ แต่หากการอุทธรณ์ของนักเรียนมีเหตุผลเพียงพอแล้ว ก็ให้ส่งเรื่องให้ ก.พ. พิจารณาต่อไป
******************************************************
21. ตามบันทึกข้อความศูนย์จัดการศึกษาในต่างประเทศและบริหารความรู้ ที่ ศกศ. 4/845 ลว. 29 สิงหาคม 2560 แจ้งเรื่องสำนักงาน ก.พ. พิจารณามอบอำนาจให้ สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ เป็นผู้พิจารณา กรณีนักเรียนทุนโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน ขอขยายเวลาศึกษาต่อในต่างประเทศ ด้วยทุนรัฐบาล เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดูแลจัดการศึกษา ดังต่อไปนี้
1. กรณีขอขยายเวลาศึกษาต่อด้วยทุนรัฐบาลภายใน 1 ปีมาตรการ ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต เป็นผู้พิจารณาอนุมัติกรณีดังกล่าว
2. กรณีขอขยายระยะเวลาศึกษาต่อเกินกว่า 1 ปีมาตรการ ให้สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูต เป็นผู้พิจารณาอนุมัติด้วยทุนส่วนตัวได้ไม่เกิน 6 เดือน
3. หากไม่สำเร็จการศึกษาตามข้อ 2 ก็ให้นักเรียนยุติการศึกษาและเดินทางกลับประเทศไทย
4. นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีก่อนครบกำหนดระยะเวลา 7 ปี ทางราชการไม่มีนโยบายให้นักเรียนอยู่ศึกษาต่อให้ครบ 7 ปี เพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี
ทั้งนี้ ให้นักเรียนที่ได้รับอนุมัติดังกล่าว ได้รับบัตรโดยสารเครื่องบิน และค่าระวางขนย้ายเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามแนวปฏิบัติเช่นเดียวกับนักเรียนทุนรัฐบาล ก.พ. – เพิ่มเติมเมื่อ ก.พ. 2561
***************************************************